ประวัติ ของ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

การก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์

โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้รับการสนับสนุนให้ก่อตั้งในสมัยของอธิการบดี ศาสตราจารย์(พิเศษ) เภสัชกร ดร.ภาวิช ทองโรจน์ โดยทาบทาม ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมพร โพธินาม เป็นประธานโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งมีแนวคิดให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นสถาบันที่เป็นเลิศทางวิชาการด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ผลิตบัณฑิตและแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและชุมชนที่มีคุณภาพ กอปรด้วยคุณธรรมและจริยธรรม สร้างงานวิจัยที่มีคุณค่า เป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการของท้องถิ่น ประเทศชาติ และนานาชาติและยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับการจัดตั้งเป็นหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 10/2546 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2546 โดยดำเนินการในรูปแบบหน่วยงานนอกระบบราชการที่เน้นความคล่องตัวมีประสิทธิภาพและพึ่งตนเองมากที่สุดและได้รับโอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จากคณะเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพไว้ในคณะแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2547 มีนิสิต 84 คน จำนวน 2 รุ่น และหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (6 ปี) หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2549ได้การรับรองจากแพทยสภา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2549 และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 5 / 2549 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549

ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ เป็นหน่วยงานนอกระบบราชการในกำกับของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แบ่งการบริหารงานออกเป็นสำนักงานเลขานุการคณะแพทยศาสตร์และงานบริการวิชาการคณะแพทยศาสตร์ ดำเนินการจัดการเรียนการสอน 5 หลักสูตร คือ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (6 ปี) (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2549) หลักสูตรแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2556) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต

การก่อสร้างโรงพยาบาล

คณะแพทยศาสตร์ ได้ดำเนินการเปิดให้บริการทางการแพทย์ เป็นครั้งแรก ณ ศูนย์บริการทางการแพทย์ (ที่ตั้งขามเรียง) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 และเปิดให้บริการแห่งที่ 2 ณ ศูนย์บริการทางการแพทย์ (เขตพื้นที่ในเมือง) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2549 และมีแผนการพัฒนาศูนย์บริการทางการแพทย์แห่งที่ 2 เป็นโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย โดยได้เริ่มก่อสร้างอาคารศูนย์บริการทางการแพทย์และศูนย์วิจัยฯ ขึ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2552 โดยใช้ชื่อในขณะนั้นว่า "ศูนย์บริการทางการแพทย์และศูนย์วิจัยเฉลิมพระเกียรติ" ซึ่งเป็นชื่อในขั้นตอนของการของบประมาณและในภายหลังได้พัฒนามาเป็น"โรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ ยังได้เปิดศูนย์บริการทางการแพทย์แผนไทยประยุกต์ โดยให้บริการด้านการหัตถบำบัดและรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรและส่งเสริมสุขภาพ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2549 และเปิดสถานผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2550

ต่อมาในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 โรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อโรงพยาบาลว่า“สุทธาเวช” (หมายถึง โรงพยาบาลซึ่งพร้อมด้วยการแพทย์อันดีงาม) และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ป้ายชื่อโรงพยาบาลด้วย

การเปิดโรงพยาบาล

วันอังคาร ที่ 22 มีนาคม 2559 เวลา 14.35 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากอาคารพลศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไปยังโรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่อ “โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์” ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการผลการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์ และทรงลงพระนามาภิไธยในแผ่นศิลา[1] ถือเป็นการเปิดใช้งานโรงพยาบาลสุทธาเวชอย่างเป็นทางการ

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม http://newcpird.org/download/ODOD51.pdf/ http://www.med.msu.ac.th/ http://www.med.msu.ac.th/web/?p=4471 http://www.med.msu.ac.th/web/?page_id=1226 http://www.med.msu.ac.th/web/?page_id=1228 http://www.med.msu.ac.th/web/?page_id=1230 http://www.med.msu.ac.th/web/?page_id=1248 http://www.med.msu.ac.th/web/?page_id=1252 http://www.med.msu.ac.th/web/?page_id=21477 http://www.plan.msu.ac.th/thai2018/wp-content/uplo...